เปิดอีกหนึ่งโครงการมหากาพย์ “วอเตอร์ฟรอนท์ฯ พัทยา” ไม่รื้อ ก็ต้องยื้อกันต่อไป

ข่าวล่าสุด

อีกหนึ่งโครงการมหากาพย์เมืองพัทยา “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” คอนโดมิเนียมสุดหรูตั้งริมอ่าวพัทยา วันนี้ไม่รื้อก็ต้องยื้อกันต่อไป

วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บาลีฮาย จำกัด ผู้บริหารโครงการ “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา จ.ชลบุรี คอนโดมิเนียมสุดหรูตั้งตระหง่านริมอ่าวพัทยา ขนาดความสูง 53 ชั้น บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างจากเมืองพัทยาอีกครั้ง โดยระบุว่าได้ทำการรื้อถอนอาคารบริเวณด้านหน้าที่มีแนวเชื่อมต่อกับอาคารสูง จากระยะ 90 เมตรให้เหลือ 60 เมตร

พร้อมจะปรับลดขนาดพื้นที่ให้ตรงตามแบบที่ขออนุญาตไปในครั้งแรก ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เข้าข่ายการขออนุญาตได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีพื้นที่ของบริเวณโดยรอบติดถนนสาธารณะทั้ง 2 ฝั่ง คือ ถนนพัทยาสาย 3 และพัทยาสายหน้าท่าเทียบเรือพัทยาใต้

และจากการสอบถามข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่สำนักการช่างเมืองพัทยา ทราบว่า กรณีดังกล่าว เมืองพัทยาไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ทำได้เนื่องจากไม่เข้าข่ายตามกฎหมายกระทรวงมหาดไทยที่ 55 ข้อ 46 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ทางโครงการเสนอ เนื่องจากการตรวจแนวผังที่ดิน พบว่า บริเวณด้านหน้าของอาคารที่ติดกับท่าเทียบเรือพัทยาใต้ มีที่ดินครอบครอง หรือ (ทค.) ขวางอยู่ตลอดแนว

จึงถือว่าบริเวณของโครงการไม่ได้ติดกับถนนสาธารณะทั้ง 2 ฝั่ง และไม่เข้าข่ายที่จะสามารถให้อนุญาตได้

“ประเด็นสำคัญคือที่ผ่านมาโครงการนี้มีการออกคำสั่งให้ทำการรื้อถอนอาคาร หรือ ค.15 ไปแล้วจากเมืองพัทยา และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการเขียน TOR เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้างและงบประมาณ แต่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนเนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกลุ่มกฎหมาย สผ. และกรมโยธาธิการ ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ด้วยยังไม่สามารถกำหนดได้ว่ากระทำการได้หรือไม่หลังมีคำสั่งรื้อถอนไปแล้ว”

นอกจากนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอาคารของโครงการมีใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่เมืองพัทยาจะต้องทำการเรียกเก็บเงินจากค่ารื้อถอนได้ ที่สำคัญขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกับเจ้าของห้องชุด จึงเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ได้

ทั้งนี้ โครงการ “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา ได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2551 บริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี โดยเป็นคอนโดมิเนียมสุดหรูริมอ่าวพัทยา ขนาดความสูง 53 ชั้น มีจำนวนห้องพัก 312 ห้อง และมีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันเช่าซื้อในสนนราคาตั้งแต่ 4-10 ล้านบาท

โดยทางโครงการระบุในสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบห้องพักให้ผู้ซื้อได้ภายในเดือน ธ.ค.2558 แต่สุดท้ายในช่วงปลายปี 2551 “นายอิทธิพล คุณปลื้ม” นายกเมืองพัทยาในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง พร้อมระบุว่า เมืองพัทยาไม่สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างในรอบที่ 3 ให้ได้

เนื่องจากตรวจพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก รวมทั้งตำแหน่งช่องลิฟต์และบันไดหนีไฟ และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เข้าตรวจสอบสภาพตัวอาคารเพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแบบแปลนรวม 42 จุด

ทำให้ในช่วงปลายปี 2559 เจ้าของโครงการต้องแจ้งต่อเมืองพัทยา ว่า พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งการลดระดับความสูงของอาคารลง 8 ชั้นเพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนที่ต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากโครงการบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา

โดยในช่วงที่เมืองพัทยายังไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง ยังได้มอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และ 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะ จนทำให้กลุ่มผู้ซื้อห้องพักรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ และความเสียหาย

ทำให้โครงการต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการหลังต้องแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาทในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง

ต่อมา ในปี 2561 ข่าวคราวโครงการวอร์เตอร์ฟรอนท์ฯ กลับมาคึกโครมอีกครั้งเมื่อทีมทนายฝั่งผู้ซื้อ เปิดแถลงข่าวหลังศาลฎีกาพิพากษาว่า การออกโฉนดที่ดิน “อาชาแลนด์” ซึ่งอยู่ติดกับโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมแจงที่มาว่าแปลงที่ดินของคอนโดฯ มาจากเอกสารสิทธิเดียวกันที่ถูกแบ่งแยกขายออก

จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้าตรวจสอบ ขณะที่คดีความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายก็ชะงักลง หลังผู้รับผิดชอบโครงการถอนคดี จนผู้ซื้อต้องรวบรวมเอกสารส่งฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน

ขณะเดียวกัน นายอภิชาต วีปรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 เลขที่ 367/2560 ประกาศให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 4 และ 43 วรรคสาม (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต)

โดยแจ้งความไปยังบริษัท บาลีฮาย จำกัด โดยระบุว่า ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนอาคาร การรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งและมาตร 41 วรรคหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าทางโครงการมิได้ดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 และ มาตรา 43 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2511 จึงให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ขนาด 19.70×91.35 เมตร จำนวน 1 หลัง ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฎหมาย

กระทั่ง นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่งของเมืองพัทยาที่ ชล.52304/9377 ลงวันที่ 27 ต.ค.2563 เพื่อออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า เมืองพัทยาจำเป็นต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการ ซึ่งก่อสร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลังมีคดีความยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี

จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมมานานหลายปีจะจบลงอย่างสวยงาม และมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงเพียงใด

เครดิต https://www.mgronline.com/local/detail/9640000100198