ผู้ที่อยู่ในแวดวงไม้ดอกไม้ประดับคงรับรู้กันโดยถ้วนทั่วแล้วว่า กระแสความนิยมไม้นั้นเป็น “วัฏจักร” ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสุดแล้วแต่จะเป็นไปในทิศทางไหน “ปั่นบ้าง ไม่ปั่นบ้าง” แล้วแต่สถานการณ์ในช่วงนั้นๆ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง “โป๊ยเซียน” ได้รับความนิยมสูงสุดจนราคาแพงหูฉี่ แต่แล้วก็หายวูบชนิด “ไปไม่กลับ” จากนั้นก็มาถึงยุคของ “ชวนชม” ไล่ไปเป็น “หน้าวัวใบ-กระบองเพชร-ฟิโลเดนดรอน-กล้วยด่าง” เป็นต้น
และ ณ ปัจจุบัน ไม้ที่โดดเด่นและมาแรงสุดๆ ก็คือ “บอนสี” ที่วันนี้ราคาค่างวดของ “บอนสี” สูงปรี๊ดสมกับที่ได้การอวยยศเป็น “ราชินีไม้ใบ” ทะยานหลักแสน ทะลุหลักล้าน เรียกได้ว่าเป็นไม้ประดับมาแรงถัดจากไม้ฟอกอากาศและไม้ด่างต่างๆ ที่เป็นกระแสนิยมมาตั้งแต่โควิดระบาดระลอกแรก
ฟังจากปากผู้คลุกคลี่อยู่ในแวดวงบอนสีมากว่า 20 ปี นายจิระวัฒ แซ่อึ้ง แห่งสวนมณีมณ ราคาบอนสีปรับขึ้น 100 เท่าในรอบ 5 ปี บอนสีมีความสวยโดดเด่ดด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะบอนสีลูกไม้ใหม่ๆ เป็นไม้ด่าง บอนสีไซส์แม่พันธุ์ ขยับราคาสูงปรี๊ด เช่นเดียวกับ บอนสีบ้านๆ ทั่วไป จากต้นเล็กๆ หลักสิบ ขยับขึ้นเป็นหลักร้อย รับกระแสนิยมบวกกับความต้องการสูงขึ้นจนของขาดตลาด ทำให้บอนสีกลับมาบูมรับอานิงสงค์ตลาดต้นไม้ฟีเวอร์อีกครั้ง
ประจวบเหมาะกับ “บอนสีจีน” ทะลักเข้าประเทศไทย งานนี้ถูกเพ่งเล็งไม่น้อยว่ามีเครือข่าย “ทุนจีนปั่นราคา” อยู่เบื้องหลังหรือไม่? เพราะระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ไทยนำเข้าบอนสีจีนเพิ่ม 40 เท่า ผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ด่านชายแดนบนแนวเส้นทาง R3a เชื่อมจีน-สปป.ลาว-ไทย มีสินค้าประเภทบอนสีนำเข้ามาจากมณฑลยูนนาน สป.จีน ผ่านทางถนน R3a เข้าทาง อ.เชียงของ ครั้งแรกเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 399,750.13 บาท ปริมาณ 14,700 ต้น มูลค่าต่อต้น 27.19 บาท จากนั้นการนำเข้าบอนสีจากจีนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือน ก.ค. มูลค่า 1,245,752 บาท ปริมาณ 40,302 ต้น มูลค่าต่อต้น 30.91 บาท เดือน ส.ค.มูลค่า 3,566,143.97 บาท ปริมาณ 108,412 ต้น มูลค่าต่อต้น 32.89 บาท และเดือน ก.ย.นำเข้าเพิ่มเป็นมูลค่า 17,004,145.46 บาท ปริมาณ 792,316 ต้น มูลค่าต่อต้น 21.46 บาท
และเป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้เอกชนจีนไม่เคยนำเข้าสินค้าประเภทบอนสีที่เป็นพืชอยู่ในพิกัด 0602.90.90 ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ที่มีอัตราอากรเป็น 0% หรือปลอดภาษี รวมทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านทาง อ.เชียงของ มาก่อนเลย จวบจนกระทั่งกระแสความนิยมบอนสี ตลอดจนพืชใบด่างในเมืองไทยมีมากขึ้น
เริ่มนำเข้าก็มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเดือนล่าสุดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 40 กว่าเท่าตัว รวมการนำเข้าตลอดทั้ง 4 เดือนดังกล่าวมีมูลค่ารวม 22,215,791.56 บาท ปริมาณรวม 955,730 ต้น มูลค่าเฉลี่ยต้นละประมาณ 23.24 บาท
อย่างไรก็ตาม ซึ่งผู้คลุกคลี่ในวงการบอนสีเมืองไทยมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจังหวะพอดี เพราะก่อนหน้านี้จีนซื้อพันธุ์บอนสีไทยไปเพาะจำหน่าย มีการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ ส่งออกต่างประเทศโดยประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดมาเลเซีย อินโนนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
“บอนสีจีนที่เข้ามาในเมืองไทย ไม่ได้มีผลกระทบกับตลาดบอนสีเมืองไทยเลยครับ” นายจิระวัฒ แซ่อึ้ง แห่งสวนมณีมณ กล่าว
ปัดตกกระแสดรามาทุนจีนปั่นราคาบอนสีรุกตลาดไทย เพราะจริงๆ แล้วบอนสีที่มีราคาสูง เพราะเป็นลูกไม้ใหม่ๆ และเป็นไม้ด่าง เหล่านี้ราคาแพงเป็นเรื่องปกติ พอมีกระแสนิยมบอนสีทำให้ความต้องการมากขึ้น สินค้ามีจำกัด ราคาย่อมแพงขึ้น รวมทั้ง กระแสต้นไม้ฟีเวอร์ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เหล่านี้เป็นปัจจัยดันราคาบอนสีให้สูงขึ้น
ที่ผ่านมา บอนสีของไทยในตลาดไม้ประดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่นตามแต่ความสวยงาม ขนาดของลำต้น และสายพันธุ์ ซึ่งมีลูกไม้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สำหรับตลาดบอนสีจะมีการพัฒนาพันธุ์ด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์ใหม่ๆ มาผสมพันธุ์อยู่เสมอเพื่อให้เกิดไม้ใหม่ มีการพัฒนาพันธุ์ตลอดเวลา และเมื่อได้ลูกไม้ใหม่ออกมาก็จะนำไม้ไปตั้งชื่อที่สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันกระแสบอนสีดันให้ราคาสูงขึ้น อ้างอิงราคาจำหน่ายจากร้านไม้ดอกไม้ประดับเชียงราย ทั้งในกาดไม้ค่ายเม็งรายมหาราช ตลาดศิริกรณ์ ฯลฯ มีการขายบอนสีตั้งแต่ต้นละ 100 – 200 บาทขึ้นไปจนถึงหลักหลายพันบาท แล้วแต่ชนิดและสายพันธุ์รวมทั้งอายุ โดยเฉพาะต้นที่มีใบด่าง ซึ่งกำลังนิยมกันอยู่ภายในประเทศไทยอยู่แล้วจะมีการซื้อขายกันในราคาแพง มูลค่าต่อต้นเพิ่มขึ้นกว่าราคานำเข้าที่ชายแดน อ.เชียงของหลายเท่าตัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสบอนสีในโซเซียลมีเดียปั่นราคาราชินีไม้ใบให้สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ออกข่าวปั่นราคาขึ้นไปหลักแสนหลักล้าน “ปั่นราคาแบบแชร์ลูกโซ่” ซึ่งในประเด็นนี้ ทนายความธัญศักดิ์ ณ นคร ได้แชร์บทความเป็นข้อคิดสำหรับนักลงทุนวงการต้นไม้ความว่า
“นายเอ กับ นายบี ลงหุ้นกันค้าขายสินค้าของใหม่หายาก จึงเลือกเอากล้วยด่างเป็นสินค้า ทั้งสองวางแผนการตลาด ดังนี้ เอกับบี หาเงินสดๆ มา 10 ล้าน ให้ เอ เอามาแกล้งซื้อต้นกล้วยด่างของ บี จำนวน10 ล้านบาท ตกเย็นคืนเงินแก่เจ้าของไป
“ต่อมา เอ ขายหน่อกล้วยด่างที่จัดเตรียมไว้แก่เหยื่อจำนวนมากที่แห่กันมาซื้อแค่หน่อละ1,000 บาท เหยื่อหวังเอาไปเลี้ยงให้สวยงามแล้วขายต่อในราคานับล้าน เอ และ บี ขายหน่อกล้วยด่างหลายสาขา หลายท้องที่ หลายจังหวัด ได้ 200,000 หน่อ รวมเป็นเงิน 200,000,000 บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน)
“หักต้นทุนหน่อละ 10 บาท ได้กำไรเท่าไหร่ คิดดูกันเอาเอง10 ล้านบาทแรกเป็นแค่เหยื่อปลอม ยืมมาวันเดียว เอามาล่อ คืนไปแล้ว… หน่อกล้วยด่างก็แอบเพาะเลี้ยงไว้แล้ว”
รวมทั้ง นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “อย่าเห่อบอนจนบ้าบอ! อย่าเห่อตามกระแสบ้าบอนสีให้มากนัก ที่แท้นักการตลาด (จีน) เขาเข้ามาปั่นราคาบอนสี เพราะเขาซื้อจากอเมริกา ซึ่งทำไร่บอนเป็นอุตสาหกรรม ดังภาพที่เห็น เมื่อราคาบอนสูง ต่อไปเขาทยอยส่งเข้ามา มีแต่รับทรัพย์ พอราคาบอนตก จะเอาจิ้มน้ำพริกก็ไม่ได้ เอามาทำเครื่องเรือนก็ไม่ได้ ลงทุนแล้วจม ให้ระวังหน่อย!”
ในประเด็นเดียวกันนี้ รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการด้านไม้ด่าง อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยกล่าวเตือนผู้ที่จะเข้ามาเล่นวงการต้นไม้ราคาแพง ระบุความว่า คิดจะเข้าวงการ อย่าเล่นตามกระแส ตลาดต้นไม้มีการปั่นจนเกิดกระแสนิยม ราคาขึ้นลงรายวัน ยิ่งกว่าราคาหุ้น ยกตัวอย่าง การลงทุนต้นไม้ด่างมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนคริปโต ไม้ด่างราคาลงแล้วก็จะลงเลยไม่มีขึ้น น่าสังเกตว่าวงการต้นไม้ปั่นราคาคล้ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่ พยายามให้มีคนหน้าใหม่เข้ามา คนเก่าที่เข้ามาก่อนได้กำไร ใครช้ามีโอกาสขาดทุน สุดท้ายฟองสบู่แตกก็พังกันไปหมด
น่าสนใจว่าในยุคโควิด-19 แพร่ระบาดตลาดต้นไม้ฟีเวอร์โตพรวดๆ โดยเฉพาะไม้ประดับไม้ด่างต่างๆ ราคาสูงลิบ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ประดับ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ออกมาย้ำเตือนดังๆ ว่า วงการที่ขยับราคากัน แบบรายวันนั้น ไม่ยั่งยืน กลไกตลาดวูบไหวไม่ต่างจากกระแสต้นไม้ประเภท ไม้ล้อม ,ไม้บอนไซ, ชวนชม,ลีลาวีดี, โป๊ยเซียน หรือแม้แต่พืชผลเศรษฐกิจ ดังนั้น กระแสไม้ใบด่างบอนสีที่กำลังมาแรงนั้น กลไกตลาดแบบปั่นราคากันรายวัน ต้องระวัง อย่าเสียรู้กลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ!
สำหรับ บอนสี ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีแห่งไม้ใบ (Queen of the Teary Plant) ในประเทศไทย มีบันทึกการนำเข้าบอนสีจากยุโรปมาในปี 2425 พระยาวินิจอนันกร บันทึกว่าฝรั่งสั่งบอนสีเข้ามาปลูกบอนสีโบราณที่นิยมในยุคนั้นชื่อว่า “กระนกกระทา” และ “ถมยาประแป้ง”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับฝ่ายใน โดยยุคนั้นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง คือ “บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์” และ “บอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก”
ทั้งนี้ แหล่งผลิตบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา คาดปริมาณการผลิตกว่า 3 แสนกระถางต่อปี ส่วนตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลาดจตุจักร, ตลาดสนามหลวง 2, ตลาดต้นไม้กาญจนาภิเษก, ตลาดมีนบุรี และตลาดออนไลน์กลุ่มเฟซบุ๊กบอนสีต่างๆ
#เช็คราคาบอนสี
#ต้นบอนสีราคาแพง
#บอนราคาแพงที่สุด
#บอนสีจากจีน
#บอนสีจีนเข้าไทย
#บอนสีจีนปั่นราคา
#บอนสีจีนมีอะไรบ้าง
#บอนสีจีนราคาส่ง
#บอนสีไทยนิยมราคา
#บอนสีนําเข้าจากจีน
#บอนสีโบราณราคา
#บอนสีราคาเท่าไหร่
#บอนสีหายากราคาแพง
เครดิต https:// www.mgronline.com/daily/detail/9640000099980